Nokia 6600 fold

สัดส่วนภายนอก

ทำไปทำมาไอ้ ตัวเล็กนี่มันก็เข้าข่ายแฟชั่นโฟนได้เหมือนกันนะ ด้วยสีสันอันหวานแหววของเครื่องทดสอบที่เราได้รับมา บวกกับดีไซน์และวัสดุอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ 6600 fold มีสไตล์เป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน ไม่ต้องลอกเลียนแบบใคร เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังว่าเป็นยังไง

ปกติแล้วจะมีโทรศัพท์สีแปลกๆ ถูกผลิตออกมามากมายหลายรุ่น อาจทำเป็นทูโทนหรือยังไงก็แล้วแต่ ทว่าการไล่สีแบบเกรเดียนท์ (Gradient) ยังไม่เคยปรากฏในพงศาวดารมือถือแห่งโลกใบนี้ (หรือมีแล้วแต่ผมพลาดไป) ด้านบนสุดใกล้ไฟกะพริบเป็นสีเข้มจนเกือบดำไล่มาเรื่อยๆ จะเห็นเป็นสีอ่อนลงจนเกือบขาวที่ส่วนปลาย และใต้ผิวของมันเองเป็นที่อยู่ของจอแสดงผล ซึ่งใช้งานได้ตามปกติเหมือนมือถือทรงฝาหอยทั่วไป เวลาตัวหนังสือติดขึ้นมานี่สวยอย่าบอกใครเชียว ราวกับว่ามันลอยขึ้นมาข้างบนอย่างไรอย่างนั้น



ส่วน ต่อเชื่อมของฝาพับชิ้นบนและชิ้นล่างถูกประกบติดไว้จนแทบจะเป็นแผ่นเดียวกัน จุดนี้ก็เป็นความสวยงามอีกอย่างหนึ่งของ 6600 fold ฝาหลังทั้งชิ้นเน้นไปทางสีเข้มมากกว่า และมีเลนส์กล้องกับแฟลชอยู่เหนือสุด ด้วยวัสดุที่ใช้และการประกอบโดยรวมอันแน่นหนา ทำให้มันแข็งแรงเข้าท่าดีทีเดียว

ทีเด็ดของโนเกียสีสวยอยู่ที่การ เปิดฝาพับแบบอัตโนมัติด้วยปุ่มกดด้านขวา เรื่องนี้เคยผ่านตามาบ้างแล้วในมือถือของซัมซุง จึงไม่ใช่ของใหม่อย่างที่บางคนเข้าใจ การทำงานมีความต่างกันอยู่บ้าง เนื่องจาก “โฟลด์” มีกลไกแบบสปริงเด้ง แล้วใช้ระบบแม่เหล็กไฟฟ้าใต้คีย์แพดยึดฝาทั้งสองชิ้นเข้าด้วยกัน ไม่ใช่มอเตอร์ไฟฟ้าที่เปิดปิดได้เนียนกว่าและกดปุ่มเพื่อปิดฝาได้ด้วย กระนั้นเอง ข้อดีของมันคือบริโภคพลังงานน้อยกว่า แต่ข้อเสียก็มีให้เห็น อย่างการที่บางครั้งกดแล้วฝาไม่เปิดออก ต้องขยับชิ้นส่วนให้เข้าที่เข้าทางกันเล็กน้อย

ชำแหละเครื่องใน

ขณะ ที่หลายรุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องเด่นอย่างกล้อง การเชื่อมต่อด้วยไวไฟ หรือฟังก์ชั่นตลาดต่างๆ นานา 6600 fold กลับเลือกที่จะทิ้งคุณสมบัติเหล่านั้น และสร้างความเป็นตัวของตัวเองด้วยปุ่มกดเปิดฝาอัตโนมัติและเซ็นเซอร์ตรวจจับ ความเคลื่อนไหวมากกว่า เซ็นเซอร์อันนี้ทำงานได้เหมือนกับรุ่นอื่น คือ เคาะตรงฝาพับด้านหน้าเพื่อเรียกดูเวลาปัจจุบัน หยุดเสียงเรียกเข้า รวมไปถึงการปฏิเสธสาย คาดว่าเมื่อเคาะบ่อยเข้า พื้นที่ตรงนั้นอาจเป็นรอย

เนื่องจากไม่ได้ใช้กระจกกันรอยเหมือนรุ่นแพงนั่นเอง

จอ หลักแบบโอเล็ดของรุ่นนี้แสดงสีได้สดมากๆ ซึ่งอันที่จริงมันก็เป็นคุณสมบัติของจอชนิดนี้อยู่แล้ว ส่วนยูสเซอร์ อินเทอร์เฟส ของโนเกีย เอส 40 เอดิชั่นใหม่ได้มีการเพิ่มลูกเล่นบางประการเข้ามา อาทิ การใช้แถบไฮไลท์ที่มีทรานซิชั่น เอฟเฟ็คเล็กน้อย ยิ่งไปกว่านั้น โนเกีย แม็ปส์ แบบเดียวกับสมาร์ทโฟนในค่ายก็ปรากฏตัวอยู่ด้วย อย่างไรก็ดี มันยังขาดระบบสมาร์ทเสิร์ชที่มีให้แทบจะทุกยี่ห้อไป แม้แต่มือถือโออีเอ็มก็มี


เหตุ ที่โนเกียต้องเลือกใช้แบตเตอรี่ความจุถึง 1,040 มิลลิแอมป์ใน 6600 fold ก็เพราะว่า ระบบเปิดฝาอัตโนมัติจะกินไฟมากกว่าโทรศัพท์ทั่วไป ถึงตอนแรกผมจะบอกว่ามันประหยัดกว่าการเปิด-ปิดฝาด้วยมอเตอร์ก็เหอะ สังเกตได้ว่าถ้าเราปิดเครื่องอยู่ ระบบนี้จะไม่ทำงาน ผู้ใช้จึงต้องง้างฝาออกเอง ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้อายุการใช้งานต่อการชาร์จหนึ่งครั้งไม่ได้ยาวนานอะไร

แม้ว่ากล้องดิจิตอลสำหรับถ่ายภาพนิ่งจะมีความละเอียดเพียง 2 ล้านพิกเซล และปราศจากการโฟกัสภาพอัตโนมัติก็ตาม เรายังโชคดีที่การถ่ายวิดีโอทำระดับเรโซลูชั่นได้สูงถึง 3 แสนจุด บนอัตรา 15 เฟรมต่อวินาที หรือขนาดเล็กลงมาหน่อยที่วีจีเอ แต่ได้ 30 เฟรมต่อวินาที ทำให้เอามาตัดต่อกับเขาได้เหมือนกัน

อีกเรื่องที่ผมอยากให้ทุก ท่านพลิกไปดูในหน้าตารางสเป็กคือ แอพพลิเคชั่นที่เป็นจาวาของรุ่นนี้ เห็นให้มาเยอะเอาการ ใช้กันไม่หวาดไม่ไหวกันเลยล่ะ


กูรูฟันธง

ถ้า คิดเป็นอัตราส่วนระหว่างเรื่องดีไซน์กับฟังก์ชั่น ผมว่าโนเกียให้ความสำคัญกับ 6600 fold ในระดับ 60:40 เพราะดูแล้วมีน้ำหนักในส่วนของการออกแบบมากกว่าจริงๆ แต่ใช่ว่าคุณสมบัติทั่วไปจะไม่ดีเลย ยังไงเมื่อเทียบกับรุ่นกึ่งกลางกึ่งล่างอย่าง 7310 Supernova เจ้านี่ยังมีความดีความชอบเหนือกว่าอยู่หนึ่งช่วงตัว ที่เหลือคือเรื่องราคา ดูซิว่าท้ายสุดแล้วคุณจะรับได้หรือเปล่า...ก็เท่านั้น

ข้อดี

เซ็นเซอร์แอคเซเลโรมิเตอร์ที่ช่วยสั่งงานผ่านการเคาะตัวเครื่อง
ปุ่มเปิดฝาพับแบบอัตโนมัติ (กลไกแม่เหล็กไฟฟ้า)
กล้องวิดีโอระดับวีจีเอ 15 เฟรมต่อวินาที
เชื่อมต่อผ่านไมโครยูเอสบี บลูทูธ และเอดจ์ คลาส 32
วิทยุเอฟเอ็มและเครื่องเล่นเพลง
เพิ่มหน่วยความจำด้วยไมโครเอสดีการ์ด
จอแสดงผลแบบโอเล็ดสีสดมาก
ตัวเครื่องมีขนาดเล็กมาก

ข้อเสีย

กล้องไม่มีออโต้ โฟกัส
บางทีกดปุ่มแล้วฝาก็ไม่เปิด (นานๆ ครั้ง)
ตัวเครื่องเป็นรอยได้ง่าย
จอยังไม่ค่อยสว่าง (เป็นธรรมดาของโอเล็ด)


ข้อมูลจาก : whatphone.net

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น